"โฮมฮักนักกีฬาน้อย" โปรเจ็กต์ปั้นนักกีฬาสู่ระดับชาติ ในปี 2015 บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ซอสมะเ…


“โฮมฮักนักกีฬาน้อย” โปรเจ็กต์ปั้นนักกีฬาสู่ระดับชาติ
ในปี 2015 บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ซอสมะเขือเทศ Roza (โรซ่า) ตั้งใจจะทำ CSR อะไรสักอย่าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้กับบริษัทตัวเอง
CSR ย่อจาก Corporate Social Responsibility หมายถึง กิจกรรมที่องค์กรธุรกิจตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อบอกให้รู้ว่า เราไม่ได้มากอบโกยผลประโยชน์อย่างเดียวนะ แต่เราคิดจะตอบแทนสังคมคืนด้วยเหมือนกัน
กิจกรรม CSR ที่เราคุ้นๆ กัน ก็เช่น ไปปลูกป่า 100 ไร่, ไปบริจาคเสื้อหนาวให้เด็กดอย ฯลฯ ซึ่งทาง Roza ก็คิดหนักว่า แล้วพวกเราควรทำอะไรดี?
สุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Roza คิดว่า CSR ของบริษัท ควรเป็นอะไรสักอย่าง ที่มีประโยชน์กับสังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่สร้างภาพเฉยๆ คืออุตส่าห์ทำแล้ว ก็ควรจะทำให้ดีไปเลย
สุวิทย์ตัดสินใจว่า Roza จะไม่บริจาคเงิน หรือ บริจาคสิ่งของ แต่พวกเขาจะทำ CSR เกี่ยวกับการพัฒนาคน
เงินหรือสิ่งของให้ไปแล้ว ไม่กี่วันก็หมดไป แต่ถ้าให้ทักษะ ให้ความรู้ และให้โอกาส สิ่งเหล่านี้จะอยู่ติดตัวกับผู้รับไปตลอด นี่ต่างหาก คือการตอบแทนสังคมที่แท้จริง
หลังจากรวบรวม ข้อมูลในหลายๆ มิติ ในปี 2015 สุวิทย์และทีมงาน ได้จับมือเป็นพาร์ทเนอร์ ร่วมกับสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กำเนิด 2 โปรเจ็กต์ขึ้นมา
โปรเจ็กต์แรก คือหลักสูตรชื่อ Kid’s Athletics และ โปรเจ็กต์ที่สองคือ “โฮมฮักนักกีฬาน้อย”
– Kid’s Athletics คือการนำนักกรีฑาทีมชาติ ที่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรระดับโลกที่เยอรมนี ไปเดินสายให้ความรู้ กับคุณครู โดยเฉพาะครูพละศึกษาในโรงเรียนเขตภาคอีสานตอนบน นำเทคนิคการฝึกสอนทักษะกีฬาขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง เป็นชุดความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาเด็กๆ ปฐมวัย (8-12 ปี) ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และต่อยอดการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องสำหรับการเล่นกีฬาทุกประเภท
เมื่อครูผู้ฝึกสอน ได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถนำกลับไปฝึกซ้อมกับเด็กๆ ได้อย่างถูกวิธี จนเด็กๆ กลุ่มนี้ สามารถพัฒนาตัวเอง กลายเป็นนักกีฬาที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้
– โฮมฮักนักกีฬาน้อย คือ โปรเจ็กต์ที่ทำขนานไปด้วยกัน อธิบายคือ Roza จะจัดแข่งขันกีฬาประเภททีม ของเด็กอายุ 8-12 ปี คล้ายๆ กับ Combine ของอเมริกันเกมส์ครับ คือแบ่งเป็นฐาน
โดยทั้ง 7 ฐานจะประกอบไปด้วย วิ่งกระโดดข้ามรั้วซิกแซก, กระโดดตาราง, กระโดด 3 ก้าว, ขว้างข้ามคาน, วิ่งทน 8 นาที, วิ่งกระโดดข้ามตั้ว และ โยนบอลข้ามศีรษะ จะสังเกตได้ว่า ทั้งหมดเป็นสกิลที่เกี่ยวข้องกับกีฬาทุกประเภททั้งสิ้น
ทีมไหนที่ทำผลงานได้ดีในรอบคัดเลือก ก็จะผ่านเข้าสู่รอบ Finals ต่อไป และทีมที่ชนะรอบ Finals ก็จะได้ทั้งเงินรางวัล และได้ทั้งโอกาสที่ดี ในการก้าวต่อไปในสายนักกีฬาอาชีพ
เพราะในรอบ Finals นั้น จะมีตัวแทนจากสมาคมกีฬาต่างๆ รวมถึงแมวมองจากโรงเรียนกีฬาที่มีชื่อเสียง มาเล็งไว้เลย ว่าเด็กคนไหนมีพรสวรรค์ สามารถเอาไปปั้นต่อได้
สำหรับ 2 โปรเจ็กต์ ทั้ง Kid’s Athletics และ โฮมฮักนักกีฬาน้อย ตอนแรกสุด Roza จัดกิจกรรมเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ และ หนองบัวลำภู) เพราะในเขตนั้น โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่ผลิตมะเขือเทศได้เยอะในประเทศไทย ถือเป็นแผ่นดินเกิดของ Roza
แต่เมื่อจัดไปเรื่อยๆ ทาง Roza ก็มองว่าเด็กๆ ที่มีพรสวรรค์ด้านกีฬา และมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ ก็มีอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นพวกเขาจึงขยายสเกลทุกอย่างให้ใหญ่ขึ้น
Kid’s Athletics จากเดิมที่ไปสอนได้แค่ไม่กี่โรงเรียน ทาง Roza ก็สร้างหลักสูตรชื่อ E-Learning AATE Kid’s Athletics ขึ้นมา นั่นคือเป็นระบบการเรียนแบบออนไลน์ ให้ครูผู้ฝึกสอนที่สนใจ หรือคนทั่วไปที่อยากได้ความรู้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ก็สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้เลย
ขณะที่ โฮมฮักนักกีฬาน้อย ก็เปิดรับสมัครทั่วประเทศ อยู่ภาคไหนก็มาสมัครได้ ซึ่งในปี 2025 มีทีมสมัคร 138 ทีม แต่ได้เข้าสู่รอบ Finals แค่ 12 ทีมเท่านั้น
และถ้านับรวมในการแข่งขันทั้งหมด 6 ปี มีจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าแข่งขัน รวมแล้ว มากกว่า 1,000 โรงเรียนเลยทีเดียว ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากๆ
สำหรับโปรเจ็กต์ โฮมฮักนักกีฬาน้อย ถือเป็นอีเวนต์ที่คนในวงการกีฬา ทั้งสมาคมต่างๆ และโรงเรียนกีฬารอคอย เพราะอยากดูว่ามีเด็กคนไหน ที่มีพรสวรรค์บ้าง ขณะที่ตัวเด็กๆ ก็อยากมาร่วมกิจกรรม เพราะถ้าตัวเองทำผลงานได้ดี อาจไปเข้าตาผู้ใหญ่ และอาจได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนเลยก็ได้
ในอดีตมีเยาวชนหลายคนที่แจ้งเกิดจากโปรเจ็กต์นี้ ตัวอย่างเช่น เกี๊ยว-ชลธิชา คะบุตร นักกระโดดค้ำหญิงทีมชาติ ที่เคยไปแข่งเอเชียนเกมส์มาแล้ว เป็นผู้เข้าแข่งขัน โฮมฮักนักกีฬาน้อย รุ่นที่ 1 และถัดจากเกี๊ยว-ชลธิชา ก็มีเยาวชนจากโครงการนี้ ก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาระดับชาติอีกหลายคน เช่น
– ปิยะดา บุญกว้าง (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 2 และ 3) นักกระโดดค้ำ ผลงาน 1 เหรียญเงินกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
– ศศิประภา เรืองชัย (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 4) นักยกน้ำหนัก ผลงาน 1 เหรียญเงินกีฬาแห่งชาติรุ่น 45 กก. หญิง
– รามิลเทพ เบลีย์ (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 4) นักฟันดาบ ผลงาน 1 เหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ
– นำโชค ภูแพง (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 4 และ 5) นักวิ่ง ผลงาน 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน วิ่งผลัด กีฬาเยาวชนแห่งชาติ
– ปนัสยา มีศิลป์ (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 5) นักกีฬาพุ่งแหลน ผลงาน 1 เหรียญเงินกรีฑานักเรียนอาเซียน
– จิรนันท์ สังข์ทอง (โฮมฮักนักกีฬาน้อย ปี 5) นักสัตตกรีฑา ผลงาน 1 เหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ
จะเห็นเลยว่านักกีฬาหลากหลายประเภท ไม่ใช่แค่กรีฑา ก็มีจุดเริ่มต้นจากโปรเจ็กต์โฮมฮักนักกีฬาน้อยกันหลายคนทีเดียว
สำหรับการแข่งขันโฮมฮักนักกีฬาน้อย ครั้งที่ 6 ปิดฉากลงไปเรียบร้อย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งคราวนี้ต้องบอกว่าอลังการขึ้นจริงๆ เพราะ ขนาดประธานสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย ยังมาร่วมพิธีด้วย
ผู้ชนะปีนี้ ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลบ้านเพียมิตรภาพที่ 138 จากจังหวัดอุดรธานี รับทุนการศึกษา 50,000 บาท และรับรองได้ว่า จะมีเด็กๆ หลายคนในทีมชุดนี้ ก้าวไปสู่เส้นทางอาชีพได้ในอนาคตอันใกล้แน่ๆ ครับ
สรุปในภาพรวมแล้ว สิ่งที่ Roza ทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2015 มันได้สร้างความคึกคักให้กับวงการกีฬาอย่างมาก จนเป็นโมเดลที่สหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย อยากให้ชาติอื่นๆ ทำตามด้วย
ถ้าในฟุตบอล เราจะรู้ได้เลยว่า มีอีเวนต์เยอะ มีกิจกรรมสำหรับเยาวชนมากมาย แต่กรีฑานี่มีน้อยมากๆ ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของ Roza ที่เลือกจะแตกต่าง ด้วยการฉีกไปกรีฑาเลย ก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ดี
ส่วนตัวแล้วผมชอบไอเดีย Kid’s Athletics มากๆ เพราะคุณเอาความรู้ระดับโปรเฟสชันนอล ที่ไม่ได้มีสอนโดยทั่วไป เอาไปส่งต่อให้คุณครูในโรงเรียนต่างๆ เพื่อต่อยอดเอาไปสอนเด็กๆ อีกทีหนึ่ง คือขอแค่เรารู้หลักว่าการออกกำลังกายที่ดี ควรทำอย่างไร ถ้าหาก เด็กๆ ในวัย 8-12 ปี สามารถ “นับหนึ่ง” ได้อย่างถูกต้อง ไม่เดินผิดทาง มันก็เป็นรากฐานสำคัญในสเต็ปต่อไป ไม่ว่าพวกเขาจะไปเล่นกีฬาอะไรก็ตามครับ
โปรเจ็กต์ Kid’s Athletics มาได้ดีแล้วครับ ขอให้เดินหน้าทำต่อไปนะครับ
บทสรุปของโฮมฮักนักกีฬาน้อยครั้งที่ 6 ผมคิดว่า จากตอนแรกสุดที่ Roza ตั้งใจจะทำ CSR อะไรสักอย่าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์บวกให้องค์กรเฉยๆ
ไปๆ มาๆ สเกลกลับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นกิจกรรมที่สานฝันของนักกีฬาเยาวชนทั่วประเทศไปแล้ว
ดังนั้นก็หวังให้ Roza ลุยต่อเนื่องไปทุกปีๆ เลยนะครับผม ขอบคุณมากที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะพื้นฐานกีฬาให้กับเด็กๆ เยาวชน
และบอกได้เลยว่า สิ่งที่ Roza ต้องการแรกสุดคือ ภาพลักษณ์บวกๆ จากการ CSR แต่ ณ เวลานี้ ด้วยโปรเจ็กต์นี้ Roza มาไกลเกินกว่านั้นเยอะมากแล้วครับผม

About The Author